วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การพัฒนาอย่างยั่งยืน


แนวคิด "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ไม่ใช่เรื่องใหม่ วัฒนธรรมมากมายในประวัติศาสตร์มนุษย์ รวมทั้งวัฒนธรรม ชุมชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้มองเห็นความจำเป็นของการสร้าง ความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เป็นเรื่อง "ใหม่" ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ คือความพยายามที่จะนิยาม สร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ และแจกแจงองค์ประกอบต่างๆ ของแนวคิดนี้ในบริบทของสังคมอุตสาหกรรมและข้อมูลข่าวสารระดับโลก
เราอาจสาวรากของแนวคิด "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ไปถึงหนังสือเรื่อง "Silent Spring" (ฤดูใบไม้ผลิที่เงียบงัน) โดย Rachel Carson ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1962 ตีแผ่ผลกระทบของยาฆ่าแมลง ที่เรียกว่า DDT ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้วยข้อมูลที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ ทำให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนอเมริกันอย่างกว้างขวาง และนำไปสู่การประกาศแบน DDT ในปี 1972 นักสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ยกย่อง Silent Spring ว่าเป็น "จุดเปลี่ยน" ที่ทำให้คนจำนวนมาก หันมาตระหนักถึงความเกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
"การพัฒนาอย่างยั่งยืน" หมายความว่าอะไร และมีลักษณะอย่างไร ? วันนี้ผู้เขียนจะเก็บข้อความจากเนื้อหาในเว็บไซต์ Sustainability Development Gateway (SD Gateway-http://sdgateway.net/) มาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้ :
"การพัฒนาอย่างยั่งยืน" สำหรับแต่ละคนย่อมมีความหมายไม่เหมือนกัน เนื่องเพราะ "ระยะยาว" ของแต่ละคน อาจยาวสั้นแตกต่างกัน แต่นิยามที่คนนิยมอ้างอิงมากที่สุดมาจากรายงานชื่อ "อนาคตร่วมของเรา" (Our Common Future หรือที่รู้จักในชื่อ "รายงานบรุนด์ท์แลนด์" -the Brundtland Report) โดยรายงานดังกล่าว ระบุว่า "การพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายถึงวิถีการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลัง ในการตอบสนองความต้องการของพวกเขา"
เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ได้อยู่ที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หากอยู่ที่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต ของประชากรโลก ในทางที่ไม่เพิ่มระดับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินศักยภาพของธรรมชาติ ที่จะผลิตมันให้มนุษย์ใช้อย่างไร้ขีดจำกัด การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความเข้าใจว่า การนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลยมีผลกระทบ และเราต้องหาหนทางใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงสถาบันและพฤติกรรมของปัจเจกชน
แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนรุดหน้า ไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ในปี 1992 ผู้นำนานาชาติที่มาพบกันในการประชุมสุดยอดแห่งโลก (Earth Summit) ในกรุงริโอ เดอ จาเนโรในบราซิล นำเค้าโครงของรายงานบรุนด์ท์แลนด์ไปสร้างสนธิสัญญาและแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นหลักๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ผู้เข้าประชุมยังได้ร่วมกันร่างแผนกลยุทธ์กว้างๆ เรียกว่า "Agenda 21" เพื่อใช้เป็นแผนที่สำหรับงานด้าน สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในอนาคต หลังจากการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าว ก็มีกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจ รัฐบาลท้องถิ่น ไปจนถึงองค์กรโลกบาลอย่างธนาคารโลก ที่นำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปตีความ ต่อยอด และปรับใช้ในบริบทของตัวเอง จวบจนปัจจุบัน และยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น